วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

Documentary Photography ภาพถ่ายสารคดี ( เรื่องที่ 3 )

บทความ โดย ภูมิกมล ผดุงรัตน์
article by Poomkamol Phadungratna


(ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารณัฐนลิน / แก้ไขสำหรับหนังสือศิลปะภาพถ่ายและภาพยนตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัย ฯ ปี 2548 / แก้ไขล่าสุดสำหรับ photo-history253 ปี 2550)

ภาพถ่ายสารคดีบันทึกเหตุการณ์ตามความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมา
งานภาพถ่ายเชิงสารคดีครอบคลุมหลากหลายประเภท
มิได้จำกัดแค่ภาพถ่ายเกี่ยวกับชีวิตและสังคมเท่านั้น ภาพถ่ายสถาปัตยกรรม
ภาพถ่ายทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ภาพถ่ายธรรมชาติ ภาพถ่ายเชิงมานุษยวิทยา
ภาพถ่ายเดินทาง ท่องเที่ยว ภาพถ่ายทางดาวเทียม ล้วนแต่เป็นงานภาพถ่ายเชิงสารคดีทั้งสิ้น
วัตถุประสงค์หลักของภาพถ่ายประเภทนี้คือการบันทึกหลักฐานเอกสารเพื่อเก็บเป็นข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ..
ในฐานะสื่อทางภาพที่มีอิทธิพลต่อความคิดและอารมณ์ ขอบเขตของงานภาพสารคดี
จึงมิได้หยุดอยู่แค่การบันทึกข้อมูล หลักฐานเอกสารเท่านั้น นับแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้า
รูปแบบของภาพถ่ายสารคดีนำไปใช้ในการโน้มน้าวกระแสสังคม ทั้งการเมือง โฆษณาชวนเชื่อ
และสังคมให้ความเชื่อถือข้อมูลทางภาพถ่ายเสมอ
แม้ในบางครั้ง ..สิ่งที่อยู่ในภาพถ่ายอาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด
หรืออาจเป็นความจริงเพียงบางส่วน ..ซึ่งอาจนำสู่การเข้าใจผิดและบิดเบือน
แต่สิ่งเหล่านี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของช่างภาพ..

ช่างภาพสารคดี/ภาพข่าวมีหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ตามสภาพจริงที่เกิดขึ้นวินาทีนั้น
บันทึกอย่างตรงไปตรงมา แต่ช่างภาพก็สามารถบันทึกได้แค่สิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าเท่านั้นเอง
ส่วนกระบวนการนำเสนอภาพต่อสังคมอยู่ในอำนาจของสำนักข่าว สำนักพิมพ์ หรือ รัฐบาล
ซึ่งแน่นอนว่าองค์กรเหล่านี้ย่อมมีแนวคิด วัตถุประสงค์ แม้กระทั่งผลประโยชน์ของตนที่ต้องคำนึงถึง

[เงื่อนไขทางวัฒนธรรม>

กล่าวกันว่า
วัฒนธรรมคือตัวกำหนดความคิดและการกระทำของคนในแต่ละสังคม
วัฒนธรรมถ่ายทอดผ่านศาสนา การศึกษา สื่อมวลชน จากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง
ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ นับแต่การกำเนิดภาพถ่ายและ
เทคนิคการพิมพ์สมัยใหม่ ..สื่อทางภาพเข้ามามีบทบาทต่อการรับรู้ของสังคม
มีอิทธิพลต่อโลกทัศน์ของประชาชน

นั่นหมายถึง สื่อทางภาพ เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม
วัฒนธรรมคืออำนาจ ..เมื่อวัฒนธรรมคือตัวกำหนดความคิดและการกระทำของสังคม
ตั้งแต่จะกินอยู่อย่างไร สวมเสื้อผ้ากันแบบใด นิยมสินค้าประเภทไหน มีทัศนะต่อสังคม
การเมือง ศาสนาในแง่มุมใด (หรือจะไม่สนใจเรื่องเหล่านี้เลย)
ทั้งหมดนี้สั่งสมจากประสบการณ์ ผ่านการอบรมในครอบครัว ผ่านการศึกษา ผ่านศาสนา
ผ่านสื่อมวลชน บ่มเพาะจนเป็นแนวคิดและพฤติกรรมร่วมกันในสังคมเดียวกัน
สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถบังคับกันได้ ไม่สามารถสร้างขึ้นชั่วข้ามคืน จึงไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง
ไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งสามารถกำหนดกระแสความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม คือไม่
สามารถฝืนบังคับวัฒนธรรมให้ไหลไปตามใจปรารถนาของตนเองได้

ความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมจะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพความเป็นอยู่ของสังคมนั้นเอง

อย่างไรก็ตาม กลไกของวัฒนธรรม หรือกลไกที่มีอิทธิพลกับความคิดและอารมณ์ของผู้คน
จะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเร้าความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ว่าเป็นการเปลี่ยนตามกาลเวลา
หรือเป็นการเปลี่ยนก่อนเวลาอันควรก็ตาม โดยกระบวนการปลูกฝัง ตอกย้ำแนวคิดให้ซึมลึก
ภาพถ่าย..ในฐานะสื่อทางภาพอันเป็นกลไกสำคัญทางวัฒนธรรม
จึงมิได้เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการบอกเล่าเรื่องราว
หรือความบันเทิงเท่านั้น ..แต่ภาพถ่ายคือเครื่องมือแห่งอำนาจ –
อำนาจในการกระตุ้นเร้าความคิดและอารมณ์ของสังคม

ประกอบกับความเชื่อถือที่ว่าภาพถ่ายไม่โกหก ยิ่งทำให้ภาพถ่ายมีอิทธิพลมากขึ้น
ภาพถ่ายหนึ่งภาพสามารถทำลายชีวิตคนให้ย่อยยับได้ทั้งชีวิต สามารถสร้างกำลังใจแก่สังคม
ที่กำลังอ่อนล้า หรือจะทำให้คนในสังคมหันมาฆ่ากันเองในเรื่องที่ไม่เป็นจริงก็ได้ทั้งนั้น..

ขึ้นอยู่ที่องค์กรนั้นใช้ภาพถ่ายเป็นหรือไม่ ..หรือใช้ได้ดีเพียงใด
ผู้กุมอำนาจรัฐในอดีตเข้าใจศักยภาพของสื่อชนิดนี้เป็นอย่างดี
และใช้ภาพถ่ายเพื่อประโยชน์ทางการเมืองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ส่วนช่างภาพสารคดี--ภาพข่าว
ในอดีตเองก็เข้าใจในอำนาจของสื่อที่ตนใช้อย่างดี และพยายามระมัดระวังอยู่เสมอ
จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า จรรยาบรรณของช่างภาพ ..
การที่ภาพถ่ายเกี่ยวข้องกับเรื่องของความคิด อารมณ์ อำนาจ
สิ่งนี้เย้ายวนให้งานภาพเชิงสารคดีเกิดมีพัฒนาการสู่อีกรูปแบบหนึ่งของศิลปะ
หมายความว่าช่างภาพ / ศิลปิน นำรูปแบบของงานสารคดีไปใช้ในงานศิลปะ
(โดยดูเหมือนภาพสารคดี หรืออาจเป็นภาพสารคดี แต่มิได้เน้นที่เรื่องราวของเหตุการณ์ในภาพ
หันมาเน้นที่แนวคิดส่วนตัวของผู้สร้างงานเป็นสำคัญ )
สำหรับภาพสารคดีประเภทที่ผู้คนคุ้นเคยกันมากที่สุด มักเป็นภาพเกี่ยวกับชีวิตและสังคม
ภาพสารคดีชีวิตและสังคมเกี่ยวข้องกับ ความคิด อารมณ์ อำนาจ มากที่สุด -- มากกว่าสารคดีแนวอื่น
ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ลองนึกถึงภาพถ่ายทางการแพทย์ หรือภาพโคลส-อัพของลำไส้ใหญ่
คงไม่สามารถกลายเป็นประเด็นทางการเมืองได้

[ภาพถ่ายชีวิตและสังคม>

อัลมา ดเวนพอร์ต ( Alma Davenport ) ยกตัวอย่างในหนังสือ
The History of Photography
ว่าระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมสองฝั่งทวีปอเมริกาเหนือ ช่างภาพทั่วไปตื่นเต้นกับเครื่องจักรกล
ขบวนรถไฟและเทคโนโลยีทันสมัย แต่ช่างภาพสารคดีเกี่ยวกับชีวิตและสังคมกลับให้ความสนใจ
กับสภาพชีวิตของกรรมกรและความเป็นอยู่ระหว่างการก่อสร้างมากกว่า ( Chapter 4,
Social Document , page 41 )

สังคมยอมรับว่าภาพถ่ายนำเสนอความเป็นจริงเสมอ
แม้ความจริงบางอย่างก็ยากที่จะยอมรับ

ในปี ค.ศ.1850 เฮนรี่ เมฮิว ( Henry Mayhew ) ร่วมกับ
ริชาร์ด เบียร์ด ( Richard Beard ) ตีแผ่ชีวิตกรรมกรและผู้ยากไร้แห่งนครลอนดอน
ในหนังสือชื่อ London Labour and London Poor
แต่ทว่าเทคโนโลยีการพิมพ์ขณะนั้นไม่สามารถตีพิมพ์ภาพถ่ายได้
จึงต้องใช้กระบวนการ wood engraver ลอกลายจากภาพถ่ายต้นฉบับลงบนแท่นพิมพ์
ซึ่งทำให้ภาพในหนังสือขาดความสมจริง ..เมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือ Street of London ของ
ช่างภาพ จอห์น ทอมสัน ( John Thomson ) ร่วมกับ อดอลฟี่ สมิธ ( Adolphe Smith )
ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 1870 ซึ่งใช้กระบวนการ photomechanical transfer process
สามารถพิมพ์ออกมาได้ใกล้เคียงภาพถ่าย

อัลมา ดเวนพอร์ต ให้ความเห็นว่าหนังสือเล่มแรก London Labour and London Poor
ไม่ได้รับความเชื่อถือจากสังคมยุคนั้น เพียงเพราะภาพประกอบไม่สมจริง คนจึงไม่เชื่อว่าเรื่องราว
นั้นเกิดขึ้นจริง ขณะที่อีกเล่ม Street of London มีภาพที่เสมือนจริงกว่าคนจึงเชื่อมากกว่า
กล่าวได้ว่าข้อจำกัดทางเทคโนโลยีเป็นเหตุปัจจัย

อย่างไรก็ตาม..ลองมองอีกแง่มุมหนึ่ง
ความยากจนในทุกสังคมมิได้ซุกซ่อนอยู่ตามป่าเขา แต่ส่วนมากมักอยู่ในเมืองใหญ่
และสามารถเห็นได้ไม่ยากเลย โดยเฉพาะนครลอนดอนยุควิคตอเรี่ยน ซึ่งมีโสเภณีเกลื่อน
ทุกมุมเมือง เป็นได้หรือไม่ว่า สังคมเองนั่นแหละที่ปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ สังคมเลือกที่จะ
ไม่เชื่อว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง ( แล้วโทษว่าภาพไม่เหมือนจริง ) ขณะที่หนังสือ
Street of London ของ จอห์น ทอมสันสามารถนำเสนอภาพเสมือนจริง
จนไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้อีกต่อไป

ในสมัยเดียวกันนั้น ผู้คนหลั่งไหลสู่อเมริกา ส่วนมากมาจากยุโรปตะวันออก
เมื่อไปถึงอเมริกาแล้วก็ไม่มีที่ไหนให้ไป ไม่มีงานให้ทำ อยู่แออัดกันในเมืองนิวยอร์คจนกลายเป็นสลัม
ยิ่งนานวัน สภาพยิ่งเลวร้าย ..จาคอบ รีส์ ( Jacob Riis ) นักข่าว / ช่างภาพ
มีประสบการณ์เรื่องนี้เป็นอย่างดี ในฐานะที่เขาเองเคยเป็นผู้อพยพมาก่อน
เขาเข้าใจว่าชีวิตคนเหล่านี้ลำบากอย่างไร บทความของเขาเขียนเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์
นิวยอร์ค แฮโรล ( New York Herald ) บรรยายชีวิตรันทดของผู้อพยพ
เมื่อสังคมรับทราบ แทนที่จะเห็นใจ..กลับตั้งข้อสงสัยว่าอะไรมันจะโหดร้ายปานนั้น

จนกระทั่งเขาเริ่มบันทึกด้วยภาพถ่าย และตีพิมพ์หนังสือ
How The Other Half Lives , Studies Among the
Tenements of New York ( ปี ค.ศ. 1890 )
จึงเกิดกระแสสังคมเคลื่อนไหวเรื่องคุณภาพชีวิตในเมืองใหญ่ขึ้นมา

ภาพถ่ายเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือเสมอ
บ่อยครั้งที่ภาพถ่ายก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม (ในแง่บวก)
ผลงานของ เดวิด ออคตาเวียส ฮิล ( David Octavius Hill ) /
โรเบิร์ต อดัมสัน ( Robert Adamson ) บันทึกชีวิตชาวประมงในเมืองนิวฮาเวน
สก็อตแลนด์ ( New Haven, Scotland ) ในปี ค.ศ. 1845
ผ่านบรรยากาศอันงดงาม เรือประมงเก่าๆ กระตุ้นเร้าความสนใจของชาวเมือง และเริ่มกลายเป็น
การเอาใจใส่ต่อคุณภาพชีวิตของชาวประมงท้องถิ่น

หรือผลงานของ ลิวอิส ไฮน์ ( Lewis w. Hines ) ซึ่งแอบบันทึกสภาพชีวิตในโรงงาน
การกดขี่แรงงานเด็ก ..ภาพถ่ายของเขาช่วยผลักดันให้เกิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
และการปกป้องสิทธิเด็กในอเมริกา

นับแต่ปลายศตวรรษที่สิบเก้าเรื่อยมา
ภาพถ่ายกลายเป็นสื่อสำคัญสำหรับโน้มน้าวกระแสสังคม
ช่างภาพผู้มีอุดมการณ์ต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นมากมาย และสามารถสร้างความ
เปลี่ยนแปลงได้หลายต่อหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าความเสมือนจริงของภาพถ่ายจะ
น่าเชื่อถือเสียทั้งหมด หลายครั้งการตัดต่อภาพเพื่อบิดเบือนเรื่องราวหรือเพื่อสร้างอารมณ์เกินจริง
มีส่วนทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อภาพถ่ายลงไปไม่น้อย อย่างเช่นงานโฆษณาชวนเชื่อของ
ยูจีน แอปเพิร์ต ( Eugene Appert ) ปี ค.ศ. 1871
หรือภาพตัดต่อในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ( Bangkok Post ) และ
หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ปี 2519 / ค.ศ.1976 เพื่อยั่วยุให้เกิดความรุนแรง กลายเป็นการนองเลือด
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หรือแม้แต่ในปี พ.ศ. 2550 ที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ได้นำภาพถ่าย
เวที นปก ที่ท้องสนามหลวงมาบิดเบือน ตัดต่อภาพ โดยเติมถ้อยคำลงไปในลักษณะไม่สมควร
อันอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรืออาจลุกลามเป็นการนองเลือดอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้
ต่างกันที่ในปัจจุบัน พ.ศ. 2550 นี้ ประชาชนและชาวอินเตอร์เนตจำนวนไม่น้อย
มีความรู้เท่าทัน ไม่หลงกลกันง่ายๆ อีกทั้งทุกคนมีกล้องถ่ายภาพดิจิตอล
มีโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายภาพได้ ..จึงมีการนำภาพถ่ายสถานที่จริงมาเปรียบเทียบ
กับภาพถ่ายหลอกลวงที่เผยแพร่โดยสื่อสารมวลชน
.
ในบางกรณี ช่างภาพมีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่ตนบันทึกมากเกินไป
จนสังคมเกิดเคลือบแคลงใจในความน่าเชื่อถือของภาพถ่ายเหล่านั้น
อย่างเช่นงานสารคดีของ เอฟ เอส เอ ( FSA / Farm Security Administration )
ที่นำเสนอความทุกข์ยากของเกษตรกรอเมริกันในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ


การทำงานของช่างภาพสารคดีต้องบันทึกเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมา
นั่นคือ ไม่ใช้เทคนิคพิเศษทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นบิดเบือนจากความจริง ไม่มีการจัดฉาก
ไม่จ้างคนมาแสดง (เรื่องนี้มีช่างภาพแอบทำกันมาก แต่หากไม่ได้สร้างความเสียหาย-
บิดเบือนเกินไป คนส่วนมากมักให้อภัย) การทำงานของช่างภาพสารคดีและช่างภาพข่าว
ในแง่ของวัตถุประสงค์แล้วอาจไม่แตกต่างกันเลย ความแตกต่างระหว่างช่างภาพสองสาขา
คือ ระยะเวลาการทำงาน และความลึกของงาน

ภาพข่าวที่ดีอาจต้องการภาพเพียงภาพเดียวเท่านั้น
แต่งานสารคดีต้องอาศัยเวลาเจาะลึกในหัวข้อนั้นๆ ต้องมีภาพจำนวนมาก
แม้มีภาพที่โดดเด่นหนึ่งภาพ ก็เป็นแค่ภาพที่ดีภาพหนึ่งเท่านั้น
มิได้หมายความว่าเป็นงานภาพถ่ายสารคดีที่มีคุณภาพ เช่นเหตุการณ์โป๊ะล่มที่ท่าน้ำพรานนก
เมื่อหลายปีก่อน เพียงภาพเจ้าหน้าที่กู้ภัยดึงศพเด็กนักเรียนขึ้นจากน้ำ (หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์)
ภาพเดียวเท่านั้น -- ถือเป็นภาพข่าวที่สมบูรณ์ที่สุด ทั้งบอกเล่าเรื่องราวความสะเทือนใจในเวลา
เดียวกัน แต่หากเป็นงานภาพสารคดี ช่างภาพต้องทำการกำหนดขอบเขตงาน (เช่น เจาะลึกในเรื่อง
ความปลอดภัยของท่าน้ำในกรุงเทพ เป็นต้น) ช่างภาพสารคดีต้องเฝ้าบันทึกสภาพการณ์ต่างๆ
และต้องจมอยู่กับหัวข้อนั้นเป็นเวลานาน


การที่ช่างภาพสารคดีต้องใช้เวลาอยู่กับเรื่องราว
หลายครั้งนำสู่ความผูกพันกับสิ่งที่ตนกำลังบันทึก จนสูญเสียความเป็นกลางไป
ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของช่างภาพสารคดี

แต่หากเกิดกรณีเช่นนี้กับช่างภาพข่าวอาจเป็นปัญหา
อีกทั้งปัญหาเรื่องจรรยาบรรณวิชาชาชีพ ..อีกมากมาย (กรณีในต่างประเทศ)
แต่สำหรับช่างภาพสารคดี..หากช่างภาพสารคดีจะแอบเคลื่อนย้ายวัตถุในภาพเพื่อองค์ประกอบ
ที่ดีกว่า ถ้าไม่เป็นการบิดเบือนจนเกินไปก็สามารถทำได้ ถึงจะไม่ค่อยเข้าท่าเท่าใดนัก และอาจ
ทำให้เกิดความคลางแคลงใจเรื่องความน่าเชื่อถือในผลงาน รวมทั้งความจริงที่นำเสนอบ้าง
มากน้อยขึ้นอยู่กับประเด็นที่เกี่ยวข้อง แต่สำหรับช่างภาพข่าวแล้วทำแบบนี้ไม่ได้เลย
(ยกเว้นข่าวสังคม ดารา บันเทิงซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ยอมรับว่าเป็นเรื่องโกหกมาแต่ต้น)

ภาพถ่ายสารคดีมิได้ยืนอยู่บนหลักสุนทรียศาสตร์ทั่วไป

เนื้อหาของงานข่าว / งานสารคดี อยู่ที่เหตุการณ์ในภาพ เป็นเรื่องของจังหวะกับเวลา
นำเสนอผ่านประสบการณ์อันช่ำชองของช่างภาพ (และบ่อยครั้งที่เป็นความบังเอิญ)
เมื่อทุกอย่างต้องเป็นเรื่องจริง -- ในช่วงเวลาจริง โอกาสที่จะมานั่งปั้นแต่งองค์ประกอบภาพนั้น
แทบเป็นไปไม่ได้เลย ..ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ช่างภาพมีเวลาคิด ตัดสินใจ และประมวลผล..
อย่างนานสุดแค่ 1/125 วินาทีเท่านั้น ความสมบูรณ์ทางเทคนิคหรือองค์ประกอบภาพ
จึงมิใช่ปัจจัยหลักในการพิจารณาภาพถ่ายสารคดี / ภาพข่าว

อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่าสิ่งนี้ไม่สำคัญ
สำหรับช่างภาพที่เปี่ยมประสบการณ์ ย่อมสามารถควบคุมปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ได้ดี
ในเกือบทุกสถานการณ์ อีกประการหนึ่ง ความสมบูรณ์ทางเทคนิคมีผลต่อการสื่อสาร
กับคนดู หากภาพไม่สามารถสื่อความหมายได้ก็ไม่มีประโยชน์อันใด
ในยุคแรก องค์ประกอบภาพถ่ายเดินตามแนวทางจิตรกรรมเป็นหลัก แต่เมื่ออุปกรณ์การ
ถ่ายภาพมีความคล่องตัวมากขึ้น กล้องมีขนาดเล็กลง ฟิล์มมีความ ไวแสงมากขึ้น
หลักสุนทรียศาสตร์ภาพถ่ายก็เปลี่ยนตามไปด้วย การถ่ายจากมุมสูง มุมต่ำ การแอบถ่าย
ภาพเคลื่อนไหวกลายเป็นเงาลางๆในบางส่วน การมีวัตถุโผล่ขึ้นมาบังอยู่ตรงฉากหน้า
หรือการมีสิ่งแปลกปลอมในฉากหลัง เหล่านี้กลายเป็นเสน่ห์ของภาพสารคดี
รวมทั้งภาพถ่ายแนวสเตรท (straight photography) ในยุคหลัง
.
การบันทึกภาพอย่างรวดเร็ว ตรงไปตรงมา ไม่เสริมแต่ง เน้นชีวิตในแง่มุมต่างๆ
รูปแบบงานภาพสารคดีดังนี้ได้พัฒนาไปสู่งานภาพถ่ายอีกประเภทหนึ่ง
คือ street photography หรือ ภาพถ่ายชีวิตข้างถนน ซึ่งเหมือนการผสมผสาน
ระหว่างงานภาพข่าวและภาพสารคดี บ่งบอกจุดยืนของลัทธิศิลปะสมัยใหม่ ( modernism )
ในงานภาพถ่ายสมัยใหม่ ( modern photography ) อย่างชัดเจน
ในเชิงปรัชญา ภาพถ่ายแนวนี้ยังแยกย่อยออกไปอีก
อองรี คาทิเอ เบรซง (Henri Catier Bresson) ช่างภาพชาวฝรั่งเศส
เสนอแนวคิด decisive moment หรือแปลเป็นไทยพอได้ว่า วินาทีแห่งการตัดสินใจ
อันมีที่มาจากเรื่องราวของจังหวะ เวลา โอกาส บวกประสบการณ์
กระบวนความคิด และวิธีนำเสนอของช่างภาพแต่ละยุคสมัย
เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและเทคโนโลยี แต่วัตถุประสงค์หลักไม่เคยเปลี่ยนไป
นั่นคือการบันทึกเหตุการณ์ตามสภาพจริงที่เป็นอยู่ และความงามของภาพถ่ายสารคดี
อยู่ที่เรื่องราวชีวิต มิใช่หลักองค์ประกอบศิลป์ หรือสุนทรียศาสตร์ที่สมมุติกันขึ้นมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น