วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วิธี ยืดอายุการใช้แบตกล้อง ให้ใช้งานได้นานขึ้น

วิธีการดูแลรักษาแบตเตอรี่กล้อง ให้ใช้ได้นานถึง ห้าปี ตอนที่ 1 / 3


ความ จริงผมตั้งใจจะเขียนบทความนี้มานานแล้วครับ แต่ก็รอให้ถึงเวลาที่เหมาะสมก่อน ซึ่งก็คือหลังช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี่เอง เพราะผมจะพูดถึงวิธีการดูแลเก็บรักษาแบตเตอรี่ให้มันอยู่ทนใช้ได้นานๆ หลายๆท่านไปเที่ยวช่วงปีใหม่กลับมาแล้วเพิ่งจะเก็บกล้องเข้าตู้ไป เราลองมาดูกันว่า คุณเก็บอย่างถูกวิธีหรือเปล่า บทความนี้จะยาวหน่อยนะครับจึงต้องแบ่งออกเป็นสามตอน แต่ถ้าคุณติดตามอ่านจนครบแล้วนำไปปฏิบัติตามอย่างจริงจังแล้วละก็ รับรองได้เลยว่าแบตเตอรี่กล้องของคุณจะใช้ได้นานห้าปีขึ้นไปอย่างสบายๆครับ ก่อนอื่นขอเน้นให้ชัดเจนก่อนนะครับ บทความนี้เป็นคำแนะนำในการเก็บรักษาแบตเตอรี่ชนิด ลิเธี่ยมไออ้อนเท่านั้น หากกล้องของคุณใช้ถ่านชาร์จแบบ NiMh ละก็ต้องขอบอกว่าการดูแลรักษาจะแตกต่างออกไปจากนี้ ขอให้ติดตามในฉบับต่อๆไปนะครับ เริ่มกันเลยดีกว่า จากการศึกษาค้นคว้าเรื่องอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลิเธี่ยมไออ้อนที่ใช้ใน กล้อง ทำให้เราพบว่า สิ่งที่มีผลกระทบกับอายุของแบตเตอรี่กล้องมากที่สุดคือการเก็บรักษา ความจริงคือคนส่วนมากไม่ได้ใช้กล้องทุกวัน ตามสถิติแล้วคนทั่วไปจะใช้กล้องเพียงปีละไม่กี่ครั้ง อย่างมากก็ไม่เกินสิบครั้งในหนึ่งปี ใช้งานนี่คือใช้จริงๆนะครับ ไม่นับการเอากล้องออกมากดเล่นนิดหน่อยๆแล้วก็เก็บ แบตเตอรี่จึงอยู่ในสภาพที่ถูกเก็บไว้เฉยๆ มากกว่าใช้งาน ซึ่งแตกต่างจากแบตเตอรี่ในมือถือที่ถูกใช้งานทุกวัน หลายๆคนเข้าใจผิดว่าแบตเตอรี่เก็บไว้เฉยๆไม่น่าเสื่อม อันนี้ผิดครับ แบตลิเธี่ยมไออ้อน แม้จะไม่ได้ใช้งานเลยเก็บอย่างเดียวก็เสื่อมลงได้ครับ และการเก็บที่ไม่ถูกวิธี จะทำให้อัตราการเสื่อมเร็วกว่าการเก็บอย่างถูกวิธีหลายสิบเท่า! สิ่งที่มีผลกระทบกับอายุแบตเตอรี่ลิเธี่ยม ไออ้อนในการเก็บรักษามากที่สุด คือ 1) สภาพไฟในการเก็บ 2) อุณหภูมิที่เก็บ ข้อแรก: สภาพไฟในการเก็บ ทฤษฎีกล่าวไว้ว่า หากจะเก็บลิเธี่ยมไออ้อนให้มีอายุนาน สภาพไฟที่เหมาะสมที่สุด ให้มีไฟอยู่ที่ 40% หรือหากวัดไฟที่ขั้วเซลล์ ให้ได้ประมาณ 3.75-3.80 โวลต์ ถือว่าเป็นสภาพที่เหมาะสม ไม่ควรเก็บในสภาพไฟเต็ม และ ห้าม เก็บในสภาพไฟหมด (โปรดสังเกตว่าผมใช้คำว่า ไม่ควร และ ห้าม) การที่เก็บแบตเตอรี่ในสภาพไฟเต็ม เคมีภายในจะ อยู่ในสภาพ active มาก แบตเตอรี่จะเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควร แต่เก็บในสภาพไฟหมดก็ยิ่งแย่กว่า เพราะเก็บไว้นานๆ แบตเตอรี่จะตาย ชาร์จไฟไม่เข้าอีกเลย โยนทิ้งซื้อใหม่ได้เลยครับ ข้อหลังนี้ผมทราบว่าคนใช้กล้องส่วนใหญ่ก็ชอบทำกันแบบนี้เป๊ะเลยครับ คือไปเที่ยวถ่ายรูปกันจนแบตหมด กลับบ้านมาก็โยนกล้องเข้าตู้ไป อีกหลายเดือนต่อมาจะเอากล้องมาใช้ ปรากฎว่า แบตเตอรี่ชาร์จไม่เข้าซะแล้ว นี่แหละครับ แบตเตอรี่ตาย เพราะเก็บในสภาพไฟหมดเป็นเวลานานเกินไป


วิธีการดูแลรักษาแบตเตอรี่กล้อง ให้ใช้ได้นานถึง ห้าปี ตอนที่ 2 / 3


สัปดาห์ ที่แล้วผมพูดถึงการดูแลรักษาแบตเตอรี่กล้องแบบลิเธี่ยมไออ้อนยังไม่จบ เรามาต่อกันเลยครับ ในเมื่อสภาพไฟในการเก็บมีผล แบตเต็มก็ทำให้เสื่อมเร็ว แบตหมดก็ทำให้มันเสียไปเลย แนะนำว่า ให้เดินทางสายกลางสิครับ และตามทฤษฎีก็ระบุไว้ว่า สภาพไฟที่เหมาะสมในการเก็บคือให้มีไฟราวๆ 40% ถ้าทำตามทฤษฎีเป๊ะๆเลย คุณต้องมีมิเตอร์วัดไฟ จิ้มที่ขั้วบวก(+)ลบ(-) ของแบตเตอรี่ หากเป็นแบตที่ระบุคุณสมบัติบนฉลากว่า 3.6 หรือ 3.7V ให้วัดไฟที่ขั้วได้ประมาณ 3.75-3.80V ถือว่ามีไฟ 40% เก็บได้เลย แต่หากฉลากระบุว่าเป็นแบตเตอรี่ 7.2 หรือ 7.4V ก็ให้วัดไฟออกมาได้ประมาณ 7.5-7.6V เท่ากับ 40% ก็เป็นอันใช้ได้เช่นเดียวกัน หากฟังดูยุ่งยากสำหรับคนทั่วไป อะไรกันนักหนาแค่จะเก็บแบตต้องมาทำให้ไฟเหลือเท่านี้ต้องมีมิเตอร์วัดไฟอีก ผมขอแนะนำว่า เอาง่ายๆสะดวกเราก็พอครับ ให้กะเอา เราใช้กล้องอยู่เราจะรู้ดีว่าตอนนี้ไฟในแบตเหลือประมาณเท่าไหร่ ที่จอกล้องมันจะมีมาตรวัดระดับไฟในแบตแสดงเป็นแบบปล้องๆอยู่แล้ว กะเอาว่าให้ไฟมีประมาณครึ่งหนึ่งก็ถือว่าใกล้เคียง 40% แล้ว ก็เก็บได้เลย จากการค้นคว้าทดลองพบว่า หากคุณเก็บแบตเตอรี่ในสภาพไฟ 40% ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม แบตจะเสื่อมไปเพียง 4% แต่หากเก็บในสภาพไฟเต็ม 100% เป็นเวลาหนึ่งปี ที่ 25 องศาเท่ากัน แบตจะเสื่อมไปถึง 20% ต่างกันถึงห้าเท่าตัว! เชื่อหรือยังครับ ว่าสภาพไฟในการเก็บมีผลอย่างมากต่ออายุแบตเตอรี่ ยังมีอีกข้อที่มีผลกับอายุแบต นั่นคือ ข้อสอง: อุณหภูมิในการเก็บ ตามทฤษฎีอีกเช่นกัน แบตลิเธี่ยมไออ้อนไม่ชอบความร้อน ในสภาพแวดล้อมที่ยิ่งร้อน แบตเตอรี่จะยิ่งเสื่อมไวขึ้น ลองมาดูตัวเลขกันนะครับ อุณหภูมิที่เก็บ ระดับการประจุ 40% ระดับการประจุ 100% 0 °C เสื่อม 2% ต่อปี เสื่อม 6% ต่อปี 25 °C เสื่อม 4% ต่อปี เสื่อม 20% ต่อปี 40 °C เสื่อม 15% ต่อปี เสื่อม 35% ต่อปี 60 °C เสื่อม 25% ต่อปี เสื่อม 40% ในสามเดือน *อ้างอิง www.batteryuniversity.com ตารางนี้ทำให้เราเห็นภาพอย่างชัดเจนว่า แม้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งสำหรับบ้านเราไม่ได้ถือว่าร้อนเลย แต่แบตเตอรี่ก็เสื่อมเร็วขึ้นแล้ว แต่หากเก็บที่ประมาณ 40 องศา อัตราการเสื่อมจะเร็วขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว และที่แย่ที่สุดคือที่ 60 องศาซึ่งถือว่าร้อนมาก แบตเตอรี่จะเสื่อมถึง 40% ภายในเวลาแค่สามเดือนเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรเก็บแบตเตอรี่ในที่ร้อนมากเช่น ในรถที่จอดตากแดดเป็นอันขาด จากในตาราง จะเห็นว่าที่อุณหภูมิ 0 องศา แบตเตอรี่จะเสื่อมช้าที่สุด หากบวกกับการเก็บในสภาพไฟที่เหมาะสมที่ 40% แล้วละก็ แบตเตอรี่จะเสื่อมเพียงปีละ 2% เท่านั้น ถ้าเก็บอย่างนี้ได้จริง ห้าปีแบตก็เสื่อมไปเพียง 10% ยังใช้ได้อีกตั้ง 90% ถือว่าแบตยังใช้งานได้เกือบจะเหมือนก้อนใหม่เลย เอ้า ให้สิบปีเลยก็ได้ แบตเสื่อมไป 20% ก็ยังถือว่ายังอยู่อีก 80% คุณเคยคิดว่า แบตที่คุณใช้อยู่ จะใช้ได้ถึงสิบปีไหมครับ? สิบปี กล้องคุณจะอยู่นานถึงขนาดนั้นหรือเปล่ายังไม่รู้เลย หมดหน้ากระดาษอีกแล้วครับท่าน



วิธีการดูแลรักษาแบตเตอรี่กล้อง ให้ใช้ได้นานถึง ห้าปี ตอนที่ 3 / 3


ใน ตอนที่ 1 และ 2 ผมพูดถึงสิ่งที่ทำร้ายอายุแบตเตอรี่กล้องมากที่สุดสองประการ คือ สภาพไฟในการเก็บ และ อุณหภูมิในการเก็บ พร้อมกับแนะนำว่า การเก็บแบตเตอรี่ที่ถูกต้อง ควรเก็บในอุณหภูมิ 0 องศา ในสภาพไฟ 40% จะทำให้แบตอายุยืนที่สุด ทฤษฎีเราได้ทราบกันไปหมดแล้ว ในสัปดาห์นี้ ผมจะมาแนะนำวิธีง่ายๆที่เราทุกคนสามารถปฏิบัติเพื่อเก็บแบตอย่างถูกวิธีกัน ครับ ในบ้านของเรามีสถานที่ๆอุณหภูมิเย็นใกล้เคียง 0 องศาอยู่แล้ว ก็คือตู้เย็นนั่นเอง คุณสามารถเก็บแบตไว้ในตู้เย็นได้ แต่ต้องเป็นช่องข้างล่าง ไม่ใช่ช่องแช่แข็งนะครับ ในช่องแช่แข็ง อุณหภูมิจะติดลบ เย็นเกินไปเดี๋ยวแบตเตอรี่จะบวมเหมือนกระป๋องเบียร์ที่คุณพ่อบ้านนำไปแช่ไว้ แล้วลืม พอเอาออกมา มันก็บวมฉึ่งเลย ตู้เย็น (ข้างล่าง) ทั่วไปอุณหภูมิจะอยู่ราวๆ 2-5 องศา แม้จะไม่ใช่ 0 องศาแต่ก็นับว่าเย็นเพียงพอครับ แต่อย่าเพิ่งโยนแบตเข้าไปในตู้เย็นตอนนี้เลยนะครับ จะเก็บก็ต้องมีขั้นตอนนิดหน่อย 1) ทำให้แบตเตอรี่มีไฟที่ระดับ 40% หรือกะเอาให้มีไฟประมาณครึ่งหนึ่ง 2) หาถุงพลาสติคมาสองใบ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงก๊อบแก๊บอะไรก็ได้ครับ ขอให้มันไม่รั่วก็พอ 3) หาสารดูดความชื้น ถ้าใครมีซิลิก้าเจล ก็ใช้ได้ ถ้ายังไม่มี ก็ไม่ต้องยุ่งยากอะไรมากครับ หาซื้อขนมพวก โดโซะ ชินมัย หรือ สาหร่ายอบกรอบที่เด็กๆชอบทานกัน ในซองขนมพวกนี้จะมีซองดูดความชื้นอยู่ นั่นแหละ เอามาใช้ได้เลยครับ 4) เอาแบตเตอรี่ใส่ลงไปในถุงพร้อมสารดูดความชื้น รีดอากาศออกให้ถุงแบนๆที่สุด มัดด้วยหนังยาง แล้วซ้อนถุงชั้นที่สอง มัดหนังยางเช่นกันครับ 5) นำไปวางในตู้เย็น เห็นไหมครับว่าไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลย การที่ผมให้ใส่ถุงแล้วใส่ซองกันชื้นไว้ด้วย เพื่อตอนที่นำออกมาไงครับ หากคุณนำแบตเตอรี่ไปวางในตู้เย็นเฉยๆ ตอนเอาออกมา ไอน้ำจะเกาะแบตเตอรี่ใช่ไหมครับ ซึ่งมันอาจจะทำให้เกิดสนิมหรืออาจทำให้แผงวงจรภายในแบตมีปัญหาได้ ผมถึงให้ใส่ถุงพร้อมสารดูดความชื้นเอาไว้ เมื่อนำออกมาใช้งาน ก็รอสัก 20 นาทีให้หายเย็นก่อน ค่อยนำออกมาจากถุง แล้วจึงนำไปชาร์จ ใช้งานตามปกติได้เลย อ้อ แถมคำแนะนำอีกนิดว่า ควรนำแบตเตอรี่มาใช้งานบ้างสักหนึ่งครั้งต่อสามถึงหกเดือน แล้วจึงเก็บใหม่ด้วยกระบวนการเดียวกัน ด้วยวิธีเก็บแบบง่ายๆเพียงเท่านี้เองครับ แบตเตอรี่กล้องชนิด ลิเธี่ยมไออ้อน ของคุณก็จะอายุยืน อยู่ยงคงกระพันไปได้อีกนานอีกห้าปี หรือ สิบปี ได้อย่างสบายๆแน่นอนครับ

Credit : www.oskabatt.com

"เหตระกูล" ชื่อแห่งตำนาน "เดลินิวส์"

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2539)

สมบัติมีค่าชิ้นสำคัญที่แสง เหตระกูลรักมากๆ คือกิจการหนังสือพิมพ์ "เดลินิวส์"

ถือเป็น CASH COW ที่ผลิตน้ำนมศักดิ์สิทธ์ป้อนลูกหลานเหตระกูลจนกระทั่งมีธุรกิจเติบใหญ่ถึงทุกวันนี้

ท่ามกลางทศวรรษใหม่แห่งการเผชิญหน้ากันของพลังเก่าและพลังใหม่

การรักษาสมบัติเก่าแก่ 30 ปีที่เปรียบเสมือนกงสีของเหตระกูล ถือเป็นภารกิจของทายาทเศรษฐีรุ่นต่อไปที่ต้องพิสูจน์ ความเป็นเหตระกูลที่โดดเด่นคือ ระบบบริหารแบบครอบครัวใหญ่นั่นเป็นเพราะภูมิหลังครอบครัวของ แสง เหตระกูลและคุณนายไซ่กี มีลูกชายหญิงมากถึง 13 คน (ลูกสาวคนที่สี่เสียชีวิตขณะอายุ 3 ขวบ) ชื่อของลูกทุกคนเตี่ยตั้งใจจะให้ขึ้นต้นด้วย "ประ" นับตั้งแต่ประสิทธิ์ ประพันธ์ ประสงค์ นายแพทย์ประสาน ประไพ ประพีร์ ประชา พล.ต.ต.ประเสริฐ ประทักษ์ ประภา ประทิน และประพิณ (ดูสาแหรกเหตระกูลประกอบ)

ลูกทั้งสิบสองคนต่างได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนนอก ส่วนใหญ่จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา เว้นแต่ประพันธ์จบญี่ปุ่น ประชาและประไพจบอังกฤษ ทั้งนี้เพราะเตี่ยแสง เหตระกูลยึดมั่นหลักว่า "ไม่มีสิ่งใดประเสริฐเท่ากับบุตรหลานมีการศึกษาทุกๆ คน" และ "สอนให้บุตรรู้จักขยันประกอบการงาน ต่อสู้กับอุปสรรคดีกว่าทิ้งสมบัติไว้ให้มากมาย"

ตำนานของเดลินิวส์เกิดขึ้นจากแสง เหตระกูลเป็นคนช่างฝัน ในตอนค่ำหลังจากงานลูกจ้างในโรงพิมพ์จีนตงหนำที่สี่แยกวัดตึกสิ้นสุดแล้ว แสงจะฝันเสมอว่า อยากเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ที่ใหญ่มีเกียรติศักดิ์ศรี เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่คนต้องซื้อข่าวเที่ยงธรรมและกล้าหาญ

แสงเริ่มทอฝันให้เป็นจริง ด้วยเงินทุน 2,000 บาทเข้าเทกโอเวอร์ "โรงพิมพ์ตงซัว" สี่พระยาที่เจ้าของเดิมประกาศขายถูกๆ เพื่อหนีภัยระเบิด แสงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโรงพิมพ์ประชาช่าง รับงานพิมพ์แบบเรียนและต่อมาในปี 2493 แสงก็ซื้อหัวและคนหนังสือพิมพ์ "กรุงเทพเดลิเมล์" ของหลุยส์ คีรีวัฒน์มาทำต่อ

จากรายปักษ์ "เดลิเมล์วันจันทร์" สู่หนังสือพิมพ์รายวัน "เดลิเมล์" ฉบับปฐมฤกษ์ 24 มิ.ย. 2493 แสงเป็นนักธุรกิจหนังสือพิมพ์ดำเนินธุรกิจถูกทาง ค่ายเดลิเมล์ยุคต้นๆ ได้ออกหนังสือติดตลาดอีกหลายเล่ม เช่น น.ส.พ.กรอบบ่าย "บางกอกเดลิเมล์" และ "เดลิเมล์เบื้องหลังข่าว" รายปักษ์ ด้วยนโยบายข่าวเจาะข่าวชาวบ้าน กับบทความที่เร้าใจคนยุคนั้น

แต่ตำนานต่อสู้ยุคเผด็จการครองเมือง แสงก็มีวันเวลาอันเจ็บปวดจากมรสุมการเมืองที่โหมกระหน่ำ ครั้งนั้นราเชนทร์ วัฒนปรีชากุลได้เขียนไว้ในความทรงจำการต่อสู้ว่า

"ทางราชการตำรวจโดยคำสั่งคณะปฏิวัติ ได้มีคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์เดลิเมล์รายวันอย่างไม่มีกำหนดโดยระบุให้ยึดปิด แท่นพิมพ์ ห้ามทำการพิมพ์จนกว่าจะมีคำสั่งอนุญาตเป็นอย่างอื่น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำครั่งมาประทับแท่นพิมพ์พร้อมกับใช้โซ่ล่ามแท่นอย่าง แน่นหนา โดยมีหนังสือพิมพ์เดลิเมล์รายวันฉบับสุดท้ายติดคาอยู่ในแท่นพิมพ์ ไม่ทันได้โผล่โฉมออกมาอีกเลย"

คราวเคราะห์ร้าย นายห้างแสงต้องต่อสู้กับมันด้วยความอดทน จึงสามารถฝ่าข้ามพ้นไปได้ แต่แสงต้องฝ่ามรสุมการเมืองถึง 7 ปีจึงเปิดหนังสือพิมพ์ในชื่อใหม่ว่า "แนวหน้าแห่งยุค เดลินิวส์" ในวันที่ 27 มีนาคม 2507 ซึ่งถือเป็นวันกำเนิดเดลินิวส์

"งานชิ้นแรกในชีวิตเตี่ย คือการเป็นครู จึงทำให้ท่านต้องคลุกคลีกับหนังสือและคงเป็นจิตใต้สำนึกชนิดหนึ่ง ผลักดันให้ท่านเข้ามาอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์ และเป็นงานชิ้นสุดท้ายของท่าน ท่านได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งในงานฉลองครบรอบปีที่ 17 ของเดลินิวส์ว่า "หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ไม่ใช่เป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นของทุกคน" นี่คือบันทึกข้อเขียนของลูกที่คัดจากเดลินิวส์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม 2525

นอกจากงานผู้อำนวยการเดลินิวส์ยุคแรกแล้ว นายห้างแสงซึ่งมีความรู้ทั้งภาษาไทยและจีน เพราะเคยเป็นครูสอนภาษาจีนที่โรงเรียนท่าม่วง ได้แต่งหนังสือ "หัดพูดไทย ภายใน 6 เดือน" ให้กับชาวสิงคโปร์และมาเลเซีย รวมทั้งใช้นามปากกา "แสงโสม" กับงานแปลคติพจน์ต่างประเทศ และยังได้เขียนตำราการดูลักษณะสตรีในเดลินิวส์ด้วย

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ จึงเป็นสมบัติเหตระกูลชิ้นแรกและชิ้นสุดท้ายที่แสงตั้งใจทำให้แก่ลูกๆ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีวันที่คนในครอบครัวเหตระกูลจะนำเดลินิวส์เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัท มหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทุกวันนี้เดลินิวส์จึงมีลักษณะเป็นกงสี ขณะเดียวกันพี่น้องแต่ละคนก็มีธุรกิจส่วนตัวของตนเองตามสไตล์และสายสัมพันธ์ เครือข่ายธุรกิจ

คนแรกที่ก้าวไปลงทุนนอกเดลินิวส์ก่อนคนอื่นๆ คือประพันธ์ซึ่งเป็นลูกชายคนที่สองซึ่งมีสไตล์พ่อค้าญี่ปุ่น เนื่องจากเรียนจบจากญี่ปุ่น ทำให้คบค้าสมาคมนักธุรกิจญี่ปุ่น จนสามารถชักชวนมาร่วมลงทุนทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายนมเปรี้ยว "ยาคูลท์" ในปี 2512 จนประสบความสำเร็จและมีฐานะธุรกิจมั่นคง

ยาคูลท์ดูเสมือนจะอยู่ในสายเลือดของประพันธ์มาก ลูกชายหญิงทั้งสามไม่ว่ากิติพันธ์หรือเบิ้ม กนกพร และกนกพรรณ โดยเฉพาะลูกสาวที่ประพันธ์รักมาก ที่มีอายุเพียง 7 วันจนถึงขณะนี้อายุ 26 ปี จะไม่เคยท้องเสียเลย เพราะประพันธ์จะบังคับให้ลูกๆ ดื่มยาคูลท์วันละขวดโดยเชื่อว่าจะป้องกันโรงทางเดินอาหารได้

ทุกวันนี้ประพันธ์จะคลายเครียดด้วยวิธีเช่าหนังวิดีโอฝรั่งนับสิบม้วน แต่เรื่องที่ประพันธ์ชอบมากที่สุด เรื่องหนึ่งคือ เรื่อง "BABY'S DAY OUT" ซึ่งหนังเบาสมองเกี่ยวกับการผจญภัยของเด็กทารกที่คลานไปทั่วเมือง ประพันธ์ ชอบทานข้าวราดแกงกะหรี่เนื้อแต่เกลียดปลาร้าจับใจ

แสงเห็นแววลูกชายคนนี้จะไปไกล ทั้งๆ ที่ประสิทธิ์เป็นลูกชายคนโต จึงดึงตัวประพันธ์มาช่วยบริหารในฐานะบรรณาธิการของเดลินิวส์ในยุคต้นๆ ซึ่งเป็นยุคเปิดโปงรัฐบาลโดยนักข่าวและคอลัมนิสต์ปากคมกล้า ในปี 2510 ประพันธ์ต้องขึ้นศาลในคดีประวัติศาสตร์แรกเกี่ยวกับเสนอข่าวทุจริต คอร์รัปชันของการจัดซื้อที่ดิน ของเทศบาลกรุงเทพมหานคร โดยใช้สำนักกฎหมายของมารุต บุนนาคเป็นทนายประจำตระกูล

ต่อมายุคสิงโตฮึ่มๆ ที่มีสุเทพ เหมือนประสิทธิเวช เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ จัดได้ว่าเป็นยุคที่เดลินิวส์เฟื่องจัดแต่มีคดีฟ้องร้องมาก เนื่องจากรวมนักคิดนักเขียนปากกาคมไว้หลายคน เช่น สุคนธ์ ชัยอารีย์ โรจน์ งามแม้นหรือเปลว สีเงิน ใหญ่ ท่าไม้ สมชาย ฤกษ์ดี บรรเจิด ทวี วิภา สุขกิจ และ ชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง

อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ในฐานะบรรณาธิการเดลินิวส์ ประพันธ์ก็เป็นพ่อค้าจีนที่ยึดคติว่า ถ้าค้าความสู้กินขี้หมาดีกว่า ดังนั้นเมื่อมีคดีความอื่นใดที่คิดว่าพอจะรอมชอม หรือเกี๋ยะเซี้ยะกันได้ ประพันธ์ก็จะใช้ความสามารถส่วนตัวลงไปเจรจาเอง แทนจะใช้ทนายความ ต่างกับประชา เหตระกูล บรรณาธิการคนปัจจุบันที่มีมาดสุภาพบุรุษอังกฤษ มักจะให้ทุกเรื่องผ่านทนาย แม้กระทั่งต้นฉบับของข่าวหรือบทความก็ผ่านที่ปรึกษากฎหมายเช่นกัน

ความแตกต่างกันระหว่างสองพี่น้องที่โดดเด่นอย่าง ประพันธ์กับประชา นอกจากความสูงต่ำดำขาวที่เป็นรูปพรรณภายนอกแล้ว ความสปอร์ตใจกว้างของประชาดูจะมีมากกว่าพี่ชาย ลบคำสบประมาทที่ว่าคนในเหตระกูลตระหนี่ไปได้สิ้นเชิง เพราะครั้งหนึ่งเพื่อนเก่าอัสสัมชัญประสบเหตุเพลิงไหม้ร้านสุกี้จนวอดวาย ประชาและเพื่อนอัสสัมชัญคนอื่นๆ อีกสิบคนทราบข่าวก็นัดกินเลี้ยงตั้งวงแชร์ ลงขันเซ็นเช็คกันให้คนละ 2 ล้านทันที แต่สำหรับภายในเดลินิวส์ ความใจกว้างเหมือนทะเลคงเป็นเช่นกัน

บทบาทของประภาจัดได้ว่าเด่นที่สุดในบรรดาลูกสาวทั้งห้าของนายห้าง แสง สมองอันปราดเปรื่องด้านการค้าการเงินของประภาเป็นที่ถูกใจของเตี่ยมากจนเอ่ย ปากชม และเสียดายที่ประภาไม่เกิดเป็นลูกผู้ชาย ประภาจะทำหน้าที่เป็นคู่คิดร่วมก่อตั้งและเป็นกรรมการให้กับธุรกิจของประชา และประพันธ์ซึ่งต่างคนต่างเก่ง

ประภาจะมีหลานรักคนหนึ่งชื่อ "สายฝน" ซึ่งเป็นลูกสาวของหมอประสานที่เสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ปี 2514 เข้ามาช่วยงานคุมด้านการเงินในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ซึ่งครั้งหนึ่งมารดาคือบุญย้อยเคยทำหน้าที่นี้ นอกจากนี้ยังมีชนาทิพย์ ตันตโดม ลูกสาวคนโตของประไพร่วมคุมการเงินในฐานะผู้ช่วยผจก.ด้วย

หลังจากมรณกรรมของแสง เหตระกูลในปี 2524 คุณนายไซ่กีเป็นผู้รับภาระดูแลลูกหลานต่อไป ขณะที่สมบัติพัสถานก็เฉลี่ยให้ทายาททั้ง 12 คนเท่าๆ กันในลักษณะถือเดลินิวส์เป็นกงสี และทุกคนต้องมีสิทธิ์ถือหุ้นเท่ากันในกิจการเครือเดลินิวส์ เช่นบริษัทแสงเอ็นเตอร์ไพร์สซึ่งก่อตั้งในปี 2536 ก็มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ บริษัทประชุมช่างและกลุ่มพี่น้องเหตระกูลถือหุ้นคนละ 500 หุ้นเท่ากัน

"ประโยคที่ 'เตี่ย' พูดเสมอว่า ให้เราสามัคคีกัน อย่าแตกแยก ขอให้ 'เดลินิวส์' ต้องอยู่ตลอดเคียงคู่บ้าน คู่เมือง และดำรงไว้ด้วยความเป็นธรรมของสังคมตลอดไป" จากบันทึกของประทักษ์

พี่ใหญ่คือประสิทธ์รับสืบทอดตำแหน่งประธานกรรมการเดลินิวส์ ก่อนหน้านี้ประสิทธิ์ และประสงค์เคยดูแลกิจการบริษัทเซเว่นอัพ บอตเติลลิ่ง(กรุงเทพ) ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนของเตี่ยกับอาสวัสดิ์ แต่เมื่อขายกิจการเซเว่นอัพแล้วทั้งคู่ก็กลับเดลินิวส์ ประสิทธิ์ดูแลนโยบายทั่วไป ขณะที่ประสงค์ดูแลด้านการผลิตและนับว่าเป็นหนึ่งในเหตระกูลที่สะสมที่ดินมากที่สุดคนหนึ่ง ในสายของประสงค์จะมีลูกทั้งสามที่เกิดจากสุดา โอสถานุเคราะห์เข้ามาช่วยเดลินิวส์ ได้แก่ ปารวดีคุมโฆษณา ปารเมศคุมเทคนิคและการผลิต ส่วนปฎิภานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการพัฒนาธุรกิจ

ขณะที่ประชา เหตระกูล ที่มีลูกชายสามคนคือ ดอม ดล และแดน ชื่อแปลกๆ ของลูกนี้ ประชาเป็นคนตั้งเอง โดยเล่าให้กับนิตยสารจีเอ็มฉบับปักษ์หลังพฤศจิกายนว่า

"ผมชอบชื่อสั้นๆ ง่ายๆ ไม่เหมือนชื่อคนบางคน อ่านยาก เขียนยาก มีสระอิตรงตัวสุดท้ายแถมด้วยการันต์สะกดถูก สะกดผิด มั่วไปหมด ก็คิดว่าชื่อดอมนี่แหละ ง่ายดี ผมคิดเอง ไม่มีความหมาย แต่เห็นว่าแปลกสั้นๆ เป็นทั้งชื่อจริงและชื่อเล่นได้หมด"

ลักษณะแฟมิลี่แมนที่ประชาให้เวลาและเข้มงวดกับลูกมาก ทำให้ประชาหลีกเลี่ยงการประชุมตอนเย็นเพื่อกลับมาดูแลลูก โดยเฉพาะช่วงศุกร์-เสาร์ อย่างไรก็ตามการเป็น "พ่อของนายแบบชื่อดัง" อย่างดอมก็มีอารมณ์เหมือนกันเมื่อลูกถ่ายแบบเดินแบบมากจนละเลยการเรียน ประชาจะโมโหมากๆ ถึงกับบอกว่า "ถ้าอยากได้เงิน พ่อให้ก็ได้" "แต่ดอมก็รู้ว่าพ่อห่วง แต่ผมอยากจะหาเงินได้จากน้ำพักน้ำแรงของตัวเองเหมือนกัน"

ภายใต้ระบบการบริหารเดลินิวส์แบบครอบครัว หากพี่น้องคุยกันไม่รู้เรื่องก็จะเกิดเรื่องทำนอง "ฟ้องแม่" ให้จัดการดีกว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อสมัยทนายประจำตระกูลอย่างมารุต บุนนาคได้เป็นรมว.สาธารณสุขและได้เลือกปลัดกระทรวงคนใหม่โดยคำนึงอาวุโส ขณะที่แคนดิเดทอีกคนที่เป็นเพื่อนประสิทธิ์โกรธมารุตและเอาข้อเขียนติเตียน มารุตไปให้ประสิทธิ์ ซึ่งประสิทธิ์จะนำลงตีพิมพ์ในเดลินิวส์ แต่ยังไม่ทันตีพิมพ์ ประพันธ์ก็ได้รับรู้และขอให้พี่ชายระงับ แต่พี่ไม่ยอม ในที่สุดประพันธ์ก็บอกแม่ คืนนั้นทั้งคืนประสิทธิ์ต้องก้มหน้ารับฟังคำอบรมสั่งสอนจากแม่ว่า "ลูกรู้หรือเปล่า เตี่ยสั่งไว้ว่าอย่างไร ต้องให้ความเคารพนับถือคุณมารุตไว้ ยอมให้เพื่อนดีกว่าผู้ใหญ่ที่เตี่ยนับถือได้อย่างไร?" ในที่สุดประสิทธิ์ก็ยอมแพ้แต่บ่นรำพึงกับคนใกล้ชิดว่า

"เรื่องนี้ผมไม่เอา ไม่ยุ่งแล้ว คุณรู้ไหมว่าประพันธ์ไปฟ้องแม่ แม่ด่าผมทั้งคืนเลย" เรื่องนี้จบลงเพราะแม่แท้ๆ

แม้สิ้นเตี่ย แต่แม่ที่เป็นที่รักก็ยังเป็นศูนย์รวมของลูกๆ คุณนายไซ่กียังเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรใหญ่ ทุกวันจะมีอาหารกลางวันที่เตรียมจัดมาจากบ้านใหญ่ที่อโศก ลูกๆ ทุกคนจะร่วมกันรับประทานอาหารที่เดลินิวส์ หลังจากนั้นคุณนายไซ่กีก็จะพักสักครู่ก่อนที่กลับไปพำนักอยู่บ้านใหญ่ที่แวด ล้อมด้วยบ้านลูกๆ 5 หลังรายรอบบริเวณถนนอโศก อันเป็นที่ดินแปลงใหญ่ไม่ต่ำกว่า 4 ไร่ โดยแต่เดิมโรงเรียนอโศกวิทย์ของเหตระกูลจะปลูกอยู่ส่วนหนึ่ง

แต่ภายหลังเมื่อถูกเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างขยายถนน ส่วนหนึ่งได้แยกไปคือ ครอบครัวของประพันธ์และประทักษ์ แต่บางวันประพันธ์ก็ไปนอนคุยกับแม่ที่อโศกเช่นเดียวกับประทักษ์ ซึ่งเป็นลูกชายคนเล็กของแม่ ซึ่งมีแนวความคิดแปลกแยกจากพี่น้อง ไม่ว่าแนวทำธุรกิจสวนอาหารป่า "เซซาโว" บนถนนงามวงศ์วานที่ดังมากในอดีต โดยมีไตรรัตน์ สุนทรประภัสสร์ซึ่งขณะนี้เป็นบรรณาธิการบริหาร น.ส.พ. "สื่อธุรกิจ" เป็นผู้จัดการร้านเซซาโวให้ แต่ปัจจุบันร้านเซซาโวเลิกร้างกิจการไปนานแล้ว แต่ประทักษ์ก็ยังนิยมเลี้ยงสัตว์ป่ากิ้งก่ายักษ์ พังพอน นกปลานานาชนิดไว้หน้าปากทางเข้าเดลินิวส์ที่ถนนวิภาวดีรังสิต

นอกจากนี้ ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่ประทักษ์มีอยู่คือการสะสมรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซ-เดสเบนซ์ไม่ต่ำกว่า 50 คันที่จอดเรียงรายละลานตาบนลานจอดรถที่ตึกเดลินิวส์ และส่วนหนึ่งที่ประตูทางเข้าเดลินิวส์

วิถีวีรบุรุษสำราญอย่างประทักษ์แม้ไม่เป็นไปดังที่ครอบครัวคาดหวัง ไว้ และบางครั้งจะทำไม่ได้ตามคำสั่งสอนของเตี่ยที่ว่า "ถ้าคนใดคิดว่าตัวเองรวย คนนั้นจะไม่มีวันรวย" ดังที่ประทักษ์เขียนถึงในงานสร้างสุสาน "แสง เหตระกูล" ที่อำเภอบ่อฝ้าย หัวหิน ซึ่งสร้างด้วยหยาดเหงื่อและแรงงานที่ต้องบุกป่าฝ่าดงของประทักษ์กับลูกมือ และสิ้นค่าใช้จ่ายสูงมาก

"กระผมคิดว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่สุดท้ายของเตี่ย กระผมจะต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่กระผมจะเนรมิตได้ ทั้งๆ ที่คำสั่งสอนของที่เตี่ยให้กับพวกเราไว้ว่า ถ้าคนใดคิดว่าตัวเองรวย คนนั้นจะไม่มีวันรวย คำประโยคนี้จึงเป็นต้องค้านกับการก่อสร้าง กระผมยอมรับว่า พี่ๆ น้องๆ และกระผมโชคดีที่เกิดมาสบาย ไม่เหมือนชีวิตของเตี่ยและแม่หรือหลายๆ ชีวิต แต่ทั้งนี้แล้วแต่บุญวาสนาของแต่ละคน ทุกอย่างในโลกมนุษย์มันต้องสู้จึงจะสำเร็จได้ด้วยดี" ตอนหนึ่งในบันทึกของประทักษ์

ต่างคนก็ต่างวิถี แต่ท่ามกลางทศวรรษใหม่แห่งการเผชิญหน้ากันของพลังเก่าและพลังใหม่จากภายนอก กับปัญหาภายในที่ต่างคนต่างเก่งที่ต้องเร่งสร้างเอกภาพการจัดการ การรักษาสมบัติเก่าแก่ 30 ปีที่เปรียบเสมือนกงสีของเหตระกูล ถือเป็นวิสัยทัศน์และภารกิจของทายาทเศรษฐีรุ่นต่อไปที่ต้องพิสูจน์

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง