วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การถ่ายภาพเชิงสารคดี (เรื่องแนะนำ ยาว ๆ แต่น่าอ่านน่ารู้ครับ)

งานเขียน สารคดีคือการนำเอาข้อเท็จจริงที่เป็นข้อมูลความรู้ในเชิงวิชาการ มาเรียบเรียงเขียนให้อ่านง่ายขึ้น โดยใช้เทคนิคของงานวรรณกรรมเข้ามาช่วย ให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณในการตัดสิน เพื่อให้เข้าถึงความดี ความจริง และความงามด้วยตนเอง บางครั้งการใช้ตัวอักษรเป็นสื่อเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถบอกเล่า “สาร” หรือเรื่องราวได้ทั้งหมด ภาพถ่ายจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของงานเขียนสารคดี และอาจสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวหนังสือเลย ดังคำกล่าวที่ว่า “ภาพหนึ่งภาพ แทนคำล้านคำ”

ภาพถ่ายเชิงสารคดีจำเป็นจะต้องดำเนินไปพร้อมเนื้อ เรื่อง เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนให้เนื้อเรื่องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และในบางกรณีภาพถ่ายสารคดีก็อาจจำเป็นต้องอาศัยเนื้อเรื่องมาสนับสนุนให้ภาพ สมบูรณ์ ช่างภาพสารคดีจึงมักจะต้องลงพื้นที่พร้อมกับนักเขียน หรือบางครั้งก็อาจต้องลงพื้นที่ด้วยตนเอง

การถ่ายภาพในเชิงสารคดีก็ เช่นเดียวกับงานเขียนสารคดี คือ การบันทึกปรากฏการณ์ ข้อเท็จจริงเพื่อบอกเล่าความจริง ตามความเป็นจริง โดยไม่บิดเบือน และไม่ถ่ายภาพนำความคิดหรือความรู้สึกของผู้คน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เช่น เรื่องเกี่ยวกับการเมือง ศาสนา และความเชื่อ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการเล่าเรื่องก็ขึ้นอยู่กับเรื่องที่ต้องการจะเล่าด้วย หากเป็นประเด็นละเอียดอ่อน หรือเป็นปรากฏการณ์ที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสังคม ช่างภาพจำเป็นจะต้องถ่ายทอดข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ถ่ายภาพให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยไม่ใช้เทคนิคหรือจัดภาพที่ผิดธรรมชาติ แต่หากเป็นประเด็นที่ชัดเจนแล้ว อย่างเช่น ยาเสพติด เด็กเร่ร่อน อุบัติภัย ฯลฯ ช่างภาพอาจต้องถ่ายทอดให้เห็นอารมณ์ ความรู้สึกในภาพ เพื่อให้คนดูรู้สึกร่วมกับภาพและเรื่องนั้นได้

เทคนิคของการถ่ายภาพ เชิงสารคดีไม่ได้แตกต่างกับการถ่าย ภาพทั่วไป แต่การถ่ายภาพสารคดีจำเป็นจะต้องอาศัยการ “ทำการบ้าน” คือการหาข้อมูลและพูดคุยกับนักเขียนและบรรณาธิการให้ชัดเจน ถึงขอบเขตแค่ไหน เมื่อถึงเวลาลงพื้นที่จะได้ทำงานได้ตรงตามเป้าหมายและมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะงานสารคดีบางเรื่องจำเป็นจะต้องลงพื้นที่ถ่ายภาพหลายครั้ง ตามแต่โอกาสและฤดูการ บางเรื่องอาจต้องลงเป็นทีม หรือใช้อุปกรณ์พิเศษ เช่น สารคดีสัตว์ป่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นต้น
โดย: sorawich (เอ้ ) [6 ส.ค. 53 19:28] ( IP A:124.121.96.244 X: )
ความคิดเห็นที่ 1
ความแตกต่างระหว่างข่าวกับสารคดี*

คำ ว่า “สารคดี” นั้นให้คำจำกัดความได้ยาก เพราะมีลักษณะแตกต่างหลากหลาย และครอบคลุมกว้างมากตั้งแต่เรื่องของบุคคลสำคัญจนถึงเรื่องเหลือเชื่อของ เหตุการณ์ผิดปรกติต่าง ๆ รวมทั้งคำอธิบายซึ่งบางครั้งต้องการสั้น ๆ แต่บางครั้งก็อาจต้องใช้ข้อเขียนที่มีความยาวมาก ๆ ก็ได้ แต่ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องที่นำเสนอในรูปแบบของสารคดีจะไม่คำนึงถึงความสด ใหม่ คือ ไม่นำคุณค่าเรื่องเวลามาเป็นตัวกำหนด บางเรื่องใช้ได้เป็นเวลานานและก็ยังรู้สึกใหม่และน่าสนใจอยู่เสมอ

สิ่ง ที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างข่าวและสารคดีไม่ชัดเจน คือ ข่าวบางข่าวถูกนำเสนอด้วยวิธีการของสารคดี เช่น ถ้านำเสนอภาพของผู้ชนะการแข่งขันฟุตบอลหรือผู้เล่นสำคัญที่ทำให้ทีมชนะและผล การแข่งขันก็อาจเป็นข่าว แต่ถ้านำเสนอในแง่ความกดดันของนักกีฬาหรือผู้เล่นคนสำคัญที่ทำให้ทีมชนะหรือ ผู้ชนะก็จะเป็นสารคดี อย่างไรก็ตามลักษณะสำคัญของสารคดีอาจดูได้จาก

1. ไม่มีกาลเวลา (Timelessness) สารคดีส่วนใหญ่ไม่ได้มีคุณค่าเพราะความทันต่อเวลาหรือความสดใหม่ แต่มักทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเรื่องนั้นสดใหม่และทันสมัยอยู่เสมอ ต่างจากภาพข่าวที่ต้องเป็นเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ แต่จะเก่าและล้าสมัยอย่างรวดเร็ว

2. เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต (Slice of Life) ถ้าเป็นภาพข่าวคุณค่าของภาพจะมีมากขึ้นถ้าซับเจคมีชื่อเสียง และกิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความสำคัญหรือรุนแรงซึ่งก่อให้เกิด ความรู้สึกต่าง ๆ เช่น สะเทือนใจ หรือเศร้าสลด แต่สารคดีจะตรงกันข้าม เพราะสารคดีจะบันทึกสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สถานที่ หรือสิ่งของธรรมดา ๆ ที่เห็นได้หรือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือการออกกำลังกายในสวนสาธารณะ

3. สารคดีจากข่าว (Featuring the News) เมื่อเกิดความเสียหายร้ายแรงจากไฟไหม้ ภาพข่าวอาจถ่ายให้เห็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ดับเพลิง และอาสาสมัครกำลังช่วยชีวิตผู้ประสบภัย โดยมีอาคารที่ถูกไฟไหม้เป็นพื้นหลัง และบรรยายความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้ พร้อมรายชื่อผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่สารคดีจากข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว (news feature) นั้น อาจถ่ายภาพตำรวจดับเพลิงที่กำลังช่วยชีวิตสุนัขและตีพิมพ์คู่กันกับภาพผู้ บาดเจ็บ และความเสียหายของอาคารโดยทั่วไป

นักเขียนบางคนให้คำนิยามคำ ว่า “สารคดี” ว่าหมายถึงอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ข่าว แต่แม้ว่าสารคดีจะรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ใช่ข่าวหรือกีฬา แต่การแยกและระบุประเภทว่าหมายถึงอะไรบ้างนั้นทำได้ยาก เพราะมีหมวดหมู่กว้างขวางมาก ที่สำคัญกว่าการแยกและระบุประเภทคือต้องรู้ว่า จะนำเสนอด้วยวิธีใดจึงจะทำให้ผู้ดูสนใจ
โดย: sorawich (เอ้ ) [6 ส.ค. 53 19:28] ( IP A:124.121.96.244 X: )
ความคิดเห็นที่ 2
คุณสมบัติของช่างภาพสารคดี

ช่าง ภาพสารคดี ที่ดีควรมีคุณลักษณะที่ ไวต่อความรู้สึก (sensitive) เช่น รู้สึกถึงความพอใจหรือไม่พอใจของซับเจค มีความเมตตา (compassionate) ทรหดอดทนต่อความยากลำบาก (patient) อดทนอดกลั้น (tolerant) ต่อความกดดันต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ อยากรู้อยากเห็น แต่ไม่สอดรู้สอดเห็น (nosey) เข้ากับผู้คนทุกประเภทได้ง่าย เด็ดขาดในการตัดสินใจและหนักแน่น (assertive) แต่ไม่ก้าวร้าว

นอกจากคุณลักษณะประจำตัวดังกล่าวแล้ว ช่างภาพสารคดีที่ดีควรมีความรู้ ความเข้าใจและทักษะต่าง ๆ ต่อไปนี้ด้วย คือ

1. ต้องรู้จักผู้อ่าน วิธีที่จะทำให้รู้จักหรือเข้าใจผู้อ่านในขั้นแรกคือดูว่าภาพถ่ายให้หนังสือ พิมพ์ประเภทไหน เช่น หนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย หรือสิ่งพิมพ์เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะประเภทของหนังสือพิมพ์จะช่วยให้ทราบประเภทของผู้อ่านที่มีความต้องการ และความสนใจแตกต่างกัน

2. ต้องมีความรู้เรื่องเนื้อหาข่าวสาร (message) งานของช่างภาพคือการบอกผู้ดูว่าเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นก่อนที่จะบอกหรือสื่อสารเรื่องราวตาง ๆ ไปยังผู้ดูหรือผู้อ่าน ช่างภาพต้องเข้าใจและรู้เรื่องที่เกิดขึ้นดีกว่าและมากกว่าคนอื่น ๆ การเริ่มต้นด้วยการสำรวจวิจัย (research) และหาข้อมูลด้วยการอ่านและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้รู้หรือผู้เกี่ยวข้อง ต่าง ๆ ให้มากที่สุดก่อนลงมือทำงานก็เป็นวิธีที่ดี

3. ต้องมีทักษะหรือความสามารถในการคาดหมาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ

3.1 การคาดหมาย ในระยะเวลาที่ยาวนานหรือแนวโน้มต่าง ๆ (trend) เช่น สังเกตเห็นความผิดปรกติของลมฟ้าอากาศที่ร้อนมากขึ้นทุกปี หรือผู้คนในชุมชนเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่างมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ช่างภาพอาจต้องคิดล่วงหน้าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นและผลกระทบต่าง ๆ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาของผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง

3.2 การคาดหมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นการเฉพาะ (specific event) ในระยะเวลาไม่นานนัก เช่นใน ก่อนเปิดภาคเรียนก็คาดหมายได้ว่าเมื่อถึงเวลาปิดภาค ผู้ปกครองและบุตรหลานจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง จึงควรเตรียมตัวและเครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ต่าง ๆ ล่วงหน้า ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือแค่วันเดียว เพื่อให้พร้อมที่จะทำงานได้ทันทีเมื่อมีกิจกรรมหรือเกิดเหตุการณ์ขึ้น

3.3 การคาดหมายขณะอยู่ในเหตุการณ์นั้น (moment within event) หมายถึงสัญยชาติญาณในการคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวินาทีนั้น

4. ต้องแสดงให้เห็นผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับผู้คน เมื่ออยู่ในเหตุการณ์อย่าลืมถ่ายภาพที่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่องราวที่ต้อง การจะบอกหรือสื่อสารไปยังผู้ดูหรือผู้อ่าน และที่สำคัญควรถ่ายภาพให้เห็นว่ากิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นสร้าง ผลกระทบโดยตรงต่อพวกเขาอย่างไร
โดย: sorawich (เอ้ ) [6 ส.ค. 53 19:29] ( IP A:124.121.96.244 X: )
ความคิดเห็นที่ 3
การปฏิบัติตน

อาชีพ ช่างภาพวารสารศาสตร์ (Photojournalist) เป็นอาชีพที่ต้องพบปะพูดคุยติดต่อสื่อสารกับผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย เช่น คนขี้อาย เห็นแก่ตัว จู้จี้ ชอบทำตัวเป็นนาย (bossy) หรือกับคนที่ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องและได้รับความร่วมมือด้วยดี การเข้าใจลักษณะนิสัยของผู้คนที่แตกต่างเหล่านี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อ ให้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องและได้รับความร่วมมือด้วยดี เช่น ควรทราบว่าคนขี้อายมักไม่ค่อยชอบพูดคุยหรือเปิดใจ จึงควรใช้วิธีพูดคุยให้เกิดความคุ้นเคยและมั่นใจก่อนเริ่มถ่ายภาพ บางครั้งอาจต้องใช้เวลานานและคุยจนแน่ใจว่าเขาเข้าใจ ไว้ใจ และยอมรับ จึงนำกล้องออกจากกระเป๋าได้ แต่ถ้าพบกับคนจู้จี้หรือชอบทำตัวเป็นนาย ก็ควรปล่อยให้เขาคิดว่าเขาเป็นนาย ด้วยการยอมให้เขาสั่งหรือกำหนดว่าควรถ่ายภาพอย่างไรแลถ่ายตามที่เขาบอกสัก 2-3 ภาพ (ซึ่งบางครั้งก็อาจได้ความคิดใหม่ ๆ เหมือนกัน) แล้วจึงขอถ่ายภาพตามที่ตนเองต้องการภายหลัง

เนื่องจากงานของช่างภาพ ไม่ใช่การเปลี่ยนความเห็นหรือทัศนคติของใคร ๆ เมื่อพบกับผู้คนที่มีนิสัยแตกต่างกันจึงต้องหลีกเลี่ยงการโต้แย้งหรือถก เถียง พยายามให้ซับเจคพูดถึงตัวเองทั้งสิ่งที่เขาคิดและสิ่งที่เขาทำ โดยช่างภาพต้องไม่พูดถึงตัวเองไม่ว่าจะเป็นปัญหาหรือแนวคิดใด ๆ ก็ตาม ที่ต้องระวังคือ ต้องไม่พูดคุยหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง ศาสนา หรือปรัชญาที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในสังคม

เมื่อต้องเจอ กับซับเจคที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เช่น บอกว่าไม่มีเวลา ก็ควรขอเวลาเท่าที่เขาให้ได้ เช่น 5 นาที และต้องพยายามถ่ายให้เสร็จ เมื่อครบเวลาก็บอกว่า หมดเวลาแล้ว บางครั้งการกระทำและคำพูดแบบนี้ก็ทำให้ซับเจคพอใจ และมีอยู่บ่อย ๆ ที่ซับเจคให้เวลามากกว่าที่กำหนดไว้ แต่ในกรณีที่ไม่ได้รับความร่วมมือจริง ๆ เพราะซับเจคตกเป็นข่าวในทางลบ อาจต้องอาศัยโอกาสหรือจังหวะที่ซับเจคลงจากรถหรือออกจากตัวอาคารแทน
โดย: sorawich (เอ้ ) [6 ส.ค. 53 19:30] ( IP A:124.121.96.244 X: )
ความคิดเห็นที่ 4
ถ้าถ่ายภาพเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องเรียน ซึ่งมีความอยากรู้อยากเห็นและมีความสนใจช่างภาพมาก ควรบอกว่าตัวเองเป็นใคร กำลังทำอะไร และเพื่อให้ความอยากรู้อยากเห็นและความต้องการถ่ายภาพลดลง บางทีอาจต้องถ่ายภาพหมู่สัก 2-3 ภาพ และปล่อยให้พวกเด็ก ๆ จ้องมอง ทำท่าต่าง ๆ ใส่กล้องสักพัก เมื่อถึงเวลาถ่ายจริงอาจต้องบอกพวกเขาว่าถ้าอยากมีตัวเองอยู่ในภาพ ต้องทำเป็นไม่เห็นกล้อง ถ้ายังมีปัญหาและมีเวลาพอควรปล่อยให้เวลาผ่านไปสัก 10-20 นาที เด็ก ๆ ก็จะเคยชินกับกล้องและเลิกสนใจหรืออาจหันไปสนใจอย่างอื่นแทน

อย่างไร ก็ตามโดยทั่วไปแล้ว เด็กเป็นซับเจคที่ถ่ายได้ง่ายเพราะดูน่ารัก เป็นธรรมชาติและจะทำท่าทางแปลก ๆ หรือทำสิ่งที่ดูไร้เดียงสาโดยไม่ต้องบอกให้ทำ เด็กบางคนชอบทำเลียนแบบผู้ใหญ่ เช่น ทาลิปสติก ใส่รองเท้าส้นสูงของแม่ หรือสวมหมวกของพ่อ ฯลฯ

อูลริค เวลสช์ (Ulrike Welsch) ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพเด็กที่ถ่ายภาพให้ บอสตัน โกลบจะขออนุญาติผู้ปกครองก่อน ถ้าผู้ปกครองไม่ได้อยู่ในบริเวณนั้นก็จะขอให้เด็กพาไปหา เวลสช์บอกว่า เพราะไม่ต้องการให้ผู้ปกครองสงสัยและขัดจังหวะการถ่ายภาพ แม้การกระทำเช่นนี้จะขัดจังหวะการทำกิจกรรมของเด็กอยู่บ้าง แต่เด็กก็จะได้กลับไปเล่นหรือทำกิจกรรมใหม่อย่างรวดเร็วตามธรรมชาติ

นอก จากเด็กแล้ว สัตว์ยังเป็นซับเจคที่ถูกนำเสนอเป็นสารคดีมากที่สุด คนรักสัตว์มักปฏิบัติต่อสัตว์เหมือนเป็นมนุษย์ตัวเล็ก ๆ เพราะเชื่อว่าสัตว์เลี้ยงมีความรู้สึกเช่นเดียวกับมนุษย์ จึงฝึกให้ทำท่าทางเหมือนคน เช่น นั่ง นอนบนเตียง สูบบุหรี่ กินไอศกรีม ยิ้ม ฯลฯ คุณสมบัติเฉพาะตัวหรือท่าทางแปลก ๆ เหล่านี้ เป็นวัตถุดิบสำหรับงานสารคดีได้ดี
โดย: sorawich (เอ้ ) [6 ส.ค. 53 19:31] ( IP A:124.121.96.244 X: )
ความคิดเห็นที่ 5
การถ่ายภาพเชิงสารคดีไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเด็ก สัตว์ และสวนสาธารณะ ยังมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายที่ถูกนำมาถ่ายภาพสารคดี แม้แต่สิ่งที่ไม่น่าจะไปด้วยกันได้ (incongruous) ก็สามารถนำมาถ่ายเป็นภาพสารคดีที่น่าสนใจได้ เช่น ภาพพระถือปืน ทหารชุดพรางสะพายกล้อง หรือคนนอนอาบแดดข้าง ๆ หลุมฝังศพ เป็นต้น

ลักษณะของเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่นำมาถ่ายทำเป็นสารคดีได้ดีคือ

- เหตุการณ์ครั้งแรก การกระทำหรือเหตุการณ์ครั้งแรกหมายถึงความไม่ไม่ประสบการณ์ ความตื่นเต้น ความวิตกกังวลหรือประหม่า (nervous) ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย หรืออาจมีความหมายพิเศษ เช่น การไปโรงเรียนวันแรกของเด็กอนุบาล การเข้าค่ายลูกเสือครั้งแรก หัดเล่นสเก็ตน้ำแข็งครั้งแรก หรือหัดเต้นรำวันแรก เหตุการณ์เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเป็นสารคดีที่ดีเพราะมักได้รับความสนใจจาก ผู้อ่าน

- งานที่ไม่ธรรมดา (unusual) งานที่อยู่แต่ในห้องทำงานหรือหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลามักไม่ค่อยน่าสนใจ ต่างจากงานบางประเภท เช่น คนเช็ดกระจกอาคารสูง คนขี่ม้าพยศ นักกายกรรม นักบินทดสอบ คนงานในโรงงานผลิตรถยนต์ ฯลฯ ภาพการทำงานเหล่านี้ทำให้สารคดีเป็นที่น่าสนใจและสร้างความประทับใจได้ง่าย เพราะเป็นงานที่คนน้อยคนจะได้เห็นหรือสัมผัสและคนจำนวนมากอยากรู้

- วันพิเศษ (special day) วันพิเศษสร้างเป็นเรื่องราวสารคดีได้ง่าย เช่น วันพ่อ วันแม่ วันเด็ก วันปีใหม่ วันสตรีสากล วันเอดส์โลก แต่ต้องระวังเรื่องที่อาจสร้างความไม่พอใจแก่ผู้คนได้ เช่น เรื่องของคนป่วย โรคเอดส์ที่อาจสร้างความไม่พอใจให้กับญาติของผู้ป่วยหรือทำให้ผู้คนเกิดความ ตระหนกเกินความจำเป็น

เพื่อให้แน่ใจว่าการถ่ายภาพได้ครอบคลุม เหตุการณ์และใช้งานได้ดี ช่างภาพควรถ่ายภาพแบบพื้นฐานทั้ง 3 ระยะ คือ ระยะไกล (long shot) ระยะปานกลาง (medium shot) และระยะใกล้ (close-up shot) ไว้ด้วยทุกครั้ง

- ถ่ายระยะไกล เพื่อให้เห็นสถานที่หรือทำเลทั้งหมดอย่างกว้าง ๆ เพื่อให้ผู้ดูเห็นความสัมพันธ์ ขนาดและมาตราส่วนของสิ่งที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ

- ถ่ายระยะปานกลาง ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างซับเจคกับส่วนประกอบสำคัญอื่น ๆ และสิ่งแวดล้อมบางส่วน

- ถ่ายระยะใกล้ เพื่อเน้ให้เห็นรายละเอียดที่ต้องการเน้น ซึ่งบางทีก็อาจเห็นแค่ใบหน้า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของวัตถุหรือซับเจคเท่านั้น

การ จะถ่ายระยะใกล้หรือไกลแค่ไหนและถ่ายอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับเรื่องที่ กำหนดหรือขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่ควรถ่ายแค่ระยะพื้นฐาน 3 ระยะนี้เท่านั้น แต่ควรถ่ายจากมุมต่าง ๆ ให้หลากหลายด้วย เช่น มุมสูง มุมต่ำ แนวตั้ง แนวนอน ฯลฯ

นอกจากต้องถ่ายให้ครอบคลุมเหตุการณ์แล้ว ยังต้องถ่ายภาพที่สามารถบอกเล่า เรื่องราวที่เป็นหัวใจของเหตุการณ์นั้นให้ได้ด้วย (ถ้าเป็นภาพข่าวอาจเป็นภาพเดียว แต่ถ้าเป็นภาพสารคดีอาจใช้มากกว่า 1 ภาพ) ช่างภาพจึงต้องหาจังหวะหรือรอวินาทีที่องค์ประกอบต่าง ๆ มารวมอยู่ด้วยกันให้มากที่สุด จังหวะหรือวินาทีสำคัญที่ว่านี้เรียกว่า “พีค โมเมนต์” (peak moment) ซึ่งการถ่ายภาพในช่วงวินาทีที่สำคัญนี้เป็นเรื่องท้าทายเพราะช่างภาพต้องใช้ ความชำนาญในการคาดหมาย เนื่องจากต้องใช้เวลาหลังจากตามองเห็นประมาณครึ่งวินาทีก่อนสมองสั่งให้นิ้ว กดปุ่มชัตเตอร์ และอีกประมาณ 1/10 วินาทีชัตเตอร์จึงจะเปิด ดังนั้นหาก รอจนเห็นภาพที่ดีที่สุด (perfect moment) แล้วจึงกดชัตเตอร์ก็อาจสายไป

*คัด ลอกมาจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชุลีพร เกษโกวิท, การถ่ายภาพวารสารศาสตร์, บทที่ 8 สารคดี, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546

และ http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=News&file=article&sid=2398

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น